แชร์

โรคไตเรื้อรัง: ไตวาย ไม่ตายไว แค่ปรับใจและปรับตัว

อัพเดทล่าสุด: 11 ม.ค. 2025
137 ผู้เข้าชม

โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney disease) คือ ภาวะที่ไตทำงานลดลง โดยดูจากค่าอัตราการกรองของไต (Glomerular filtration rate) หรือไตมีการทำงานผิดปกติ เช่น มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ พบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ หรืออาจพบความผิดปกติของไตจากทางรังสีวิทยา เช่น การอัลตร้าซาวด์พบว่าไตมีขนาดเล็กลง หรือพบถุงน้ำในไต โดยความผิดปกติพบต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือน

อาการของโรคไตเรื้อรัง

1.       ไม่มีอาการ ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะต้นๆ
2.       มีความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงควบคุมได้ยากขึ้น จำเป็นต้องใช้ยาปริมาณมากขึ้นในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
3.       มีภาวะบวม ขาบวม หนังตาบวม เหนื่อยหอบเนื่องจากมีภาวะน้ำคั่งในปอด
4.       มีปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะเป็นเลือด ตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน
5.       คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ซึมลง เกิดจากภาวะของเสียคั่ง จะพบเมื่ออัตราการกรองของไตลดลงมากแล้ว

สาเหตุของโรคไตเรื้อรัง

1.       โรคเบาหวาน
2.       โรคความดันโลหิตสูง
3.       โรคไตอักเสบ เช่น lupus nephritis, FSGS, IgA nephropathy
4.       โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงน้ำในไต (Polycystic Kidney Disease)
5.       โรคไตขาดเลือดจากเส้นเลือดที่เลี้ยงไตตีบ
6.       โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำหลายๆครั้ง
7.       ได้รับยาแก้ปวด แก้อักเสบ ยาต้ม ยาหม้อ ยาสมุนไพร ยาลูกกรอน เป็นระยะเวลานาน

การรักษาโรคไตเรื้อรัง
แบ่งเป็น 2 ประเภท คือการรักษาเพื่อชะลอภาวะไตเสื่อม และ การบำบัดทดแทนไต


การรักษาเพื่อชะลอภาวะไตเสื่อม

1.       รักษาควบคุมโรคประจำตัว เช่น ควบคุมโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตให้ดี กินยากดภูมิคุ้มกันรักษาโรคไตอักเสบอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการกำเริบของโรค
2.       การควบคุมอาหาร เช่น ลดอาหารเค็ม ควบคุมการกินโปรตีนให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ความคุมการกินอาหารที่มีโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง และรับประทานน้ำในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์
3.       การออกกำลังกาย อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
4.       ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
5.       หยุดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่มีผลให้โรคไตเรื้อรังแย่ลงได้
6.       การรักษาด้วยยา เช่น ยาลดการดูดซึมฟอสฟอรัส ยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดเพื่อรักษาภาวะโลหิตจาง ยาลดความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคเบาหวาน
ยารักษาโรคไขมันในเลือดสูง และยาเพื่อความคุมระดับเกลือแร่และกรดด่างในร่างกาย

การบำบัดทดแทนไต จะเริ่มเมื่ออัตราการกรองของไตลดลงน้อยกว่า 6 มล./นาที/1.73 ตร.ม. หรือน้อยกว่า 15 มล./นาที/1.73 ตร.ม. ที่ เริ่มมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย

1.     การล้างไตทางหน้าท้อง (peritoneal dialysis)
2.     การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
3.     การปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy