แชร์

อัลตร้าซาวด์ช่องท้องบอกโรคอะไรบ้าง

อัพเดทล่าสุด: 12 ม.ค. 2025
100 ผู้เข้าชม

การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องคืออะไร 
การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง (Ultrasound abdomen) คือ การสร้างภาพอวัยวะภายในช่องท้องด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อค้นหาความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง
 บางชนิดสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้ ทำให้แพทย์สามารถรักษาได้ทันที  การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด เพราะเป็นเพียงการใช้หัวตรวจเคลื่อนที่ไปบนผิวหน้าท้อง
อีกทั้งคลื่นเสียงที่ใช้ก็มีความปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดอันตราย ไม่มีรังสีสามารถตรวจในสุภาพสตรีที่ตั้งครรภ์ได้ 

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen หรือ Upper Adomen Ultrasonography)
2.การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Lower Abdomen หรือ Lower Adomen Ultrasonography)

การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน
เป็นการตรวจดูอวัยวะช่องท้องส่วนบนเหนือระดับสะดือขึ้นไป ได้แก่ ตับ, ม้าม, ถุงน้ำดี, ท่อน้ำดีส่วนต้น, ไต และหลอดเลือดแดงใหญ่, ตับอ่อน (บางรายเห็นได้บางส่วน) ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ 


การตรวจอัลตร้าซาวช่องท้องส่วนล่าง
เป็นการตรวจดูอวัยวะของช่องท้องส่วนล่างต่ำกว่าระดับสะดือลงไป ได้แก่ มดลูก, รังไข่ (หญิง), ขนาดของต่อมลูกหมาก (ชาย), กระเพาะปัสสาวะ, ไส้ติ่ง และบริเวณช่องท้องส่วนล่าง อื่นๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ 

ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง?

ช่องท้องส่วนบน

  • ผู้ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีความผิดปกติอาหารไม่ย่อย ท้องอืด จุกเสียด
  • ผู้ที่มีค่าตับผิดปกติ หรือ มีตัวเหลือง ตาเหลือง
  • ผู้ที่เป็นตับแข็ง หรือ มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป ตรวจได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

ช่องท้องส่วนล่าง

  • ผู้ที่มีปวดท้องด้านล่าง และสงสัยภาวะไส้ติ่งอักเสบ
  • ผู้ที่ปวดประจำเดือนเป็นประจำ หรือ ประจำเดือนมาผิดปกติ 
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ที่สงสัยโรคถุงน้ำรังไข่
  • ผู้ที่มีความผิดปกติระบบปัสสาวะ
  • ผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจทั้งผู้ชายและผู้หญิง เพราะเป็นวัยที่เริ่มมีความเสื่อม และเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับอวัยวะภายในช่องท้องมากขึ้น

ทำไมต้องอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง

โดยทั่วไป ประโยชน์การอัลตราซาวด์ช่องท้อง มีดังต่อไปนี้

  • เพื่อตรวจอวัยวะภายในช่องท้อง เพื่อค้นหาความผิดปกติภายในช่องท้องเบื้องต้นในขณะที่ยังไม่มีอาการ เช่น นิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี ก้อนเนื้อในตับ หรือตามโปรแกรมในรายการตรวจสุขภาพประจำปี 
  • ตรวจกรณีที่สงสัยก้อนในช่องท้อง โดยอัลตร้าซาวด์ช่วยบอกว่าก้อนนั้นน่าจะมาจากอวัยวะใด และลักษณะของก้อนว่ามีส่วนประกอบเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำ
  • ตรวจเมื่อมีอาการปวด หรือแน่นท้องประจำ ทั้งเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หรือมีการเพิ่มขนาดของอวัยวะในช่องท้อง หรือผลเลือดตับผิดปกติ
  • เพื่อนำทางในการตัดเก็บชิ้นเนื้อ ทำให้มั่นใจได้ว่าตรงตำแหน่งที่ต้องการ และหลีกเลี่ยงอวัยวะอื่นที่สำคัญ เช่น เส้นเลือด
  • ใช้ตรวจซ้ำเพื่อติดตาม ความผิดปกติหลังจากที่ได้รับการรักษาไปแล้ว หรือการเปลี่ยนแปลงของความผิดปกตินั้น ๆ

วิธีเตรียมตัว เมื่อต้องตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง

  • การตรวจช่องท้องส่วนบน: ควรงดอาหารที่มีไขมันและเครื่องดื่มอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง ก่อนการตรวจ
  • การตรวจช่องท้องส่วนล่าง: ควรดื่มน้ำเปล่า (อย่างน้อย 500ml) และกลั้นปัสสาวะไว้ 1-2 ชั่วโมงก่อนตรวจ
  • คนไข้ท่านใดที่มีโรคประจำตัว สามารถใช้ยาประจำทานตามเวลาที่กำหนดได้ตามปกติ

ขั้นตอนการตรวจเป็นอย่างไร

  1. ผู้ป่วยจะนอนบนเตียง แพทย์จะทาผิวหนังในบริเวณที่ตรวจด้วยเจลเย็นๆ เพื่อช่วยการส่งผ่านคลื่นเสียงจากหัวตรวจผ่านผิวหนังเข้าไปดูอวัยวะต่างๆ
  2. ในขณะตรวจแพทย์จะกดหัวเครื่องตรวจบนผิวหนัง/ร่างกายส่วนที่จะตรวจเบาๆ เคลื่อนไปจนทั่วบริเวณที่ตรวจ 
    โดยแพทย์และผู้ป่วยจะมองเห็นภาพอวัยวะจากการตรวจบนจอเครื่องตรวจไปพร้อม ๆ กัน
  3. การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที ขึ้นกับตำแหน่งอวัยวะที่ต้องการตรวจและความผิดปกติ
  4. หลังการตรวจอัลตร้าซาวด์มักไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ผู้ป่วยสามารถขับรถ ดื่มน้ำ รับประทานอาหาร และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ
  5. หลังจากการตรวจเสร็จสิ้นแพทย์ใช้เวลาพิมพ์ผลการตรวจอัลตราซาวด์ไม่นาน โดยส่วนใหญ่แพทย์เจ้าของไข้จะเป็นผู้อธิบายเกี่ยวกับผลการตรวจ เนื่องจากต้องวิเคราะห์ผลและให้การวินิจฉัยรวมถึงสั่งการรักษา 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
การอัลตร้าซาวด์ไทรอยด์ ลักษณะก้อนแบบไหนเสี่ยงมะเร็งไทรอยด์
ก้อนของต่อมไทรอยด์ (thyroid nodule)  ส่วนใหญ่ไม่มีอาการและมักพบเป็นก้อนเดี่ยว ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่อคลำพบก้อนบริเวณลำคอ หรืออาจพบโดยบังเอิญ จากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)  ผู้ป่วยควรตรวจอัลตร้าซาวด์ไทรอยด์เพิ่มเติมโดยรังสีแพทย์ เพื่อทำนายความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
11 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy