การอัลตร้าซาวด์ไทรอยด์ ลักษณะก้อนแบบไหนเสี่ยงมะเร็งไทรอยด์
ก้อนของต่อมไทรอยด์ (thyroid nodule) ส่วนใหญ่ไม่มีอาการและมักพบเป็นก้อนเดี่ยว ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่อคลำพบก้อนบริเวณลำคอ ซึ่งก้อนมักมีขนาดกว่า 1 เซนติเมตร หรืออาจพบโดยบังเอิญ จากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ผู้ป่วยควรตรวจอัลตร้าซาวด์ไทรอยด์เพิ่มเติมโดยรังสีแพทย์ เพื่อทำนายความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
การอัลตร้าซาวด์ไทรอยด์บอกอะไรได้บ้าง?
- ดูขนาดของต่อมไทรอยด์
- วัดขนาดของก้อนที่แน่นอน
- แยกก้อนในต่อมไทรอยด์ที่คลำพบว่าเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อ
- ดูลักษณะของก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์ เพื่อทำนายความเสี่ยงการเป็นมะเร็งไทรอยด์
- ประเมินการลุกลามของก้อนในกรณีที่เป็นมะเร็งไทรอยด์
- ดูต่อมน้ำเหลืองผิดปกติบริเวณลำคอ
- ใช้อัลตราซาวด์นำในการเจาะดูดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางเซลล์วิทยา (Ultrasound guided thyroid with fine needle aspiration, FNA) ช่วยให้ได้สิ่งส่งตรวจจากตำแหน่งที่เหมาะสมและปลอดภัยจากการเกิดหลอดเลือดฉีกขาด
ระบบการรายงานผลอ่านก้อนในต่อมไทรอยด์
- ปัจจุบันมีระบบการรายงานเพื่อทำนายมะเร็งต่อมไทรอยด์ ที่เรียกว่า Thyroid imaging report and data system (TI-RADS4) เพื่อจำแนกก้อนที่เป็นมะเร็งจากก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็ง โดยแปลผลเป็นลำดับชั้นต่างๆ เพื่อทำนายมะเร็งต่อมไทรอยด์ ให้รังสีแพทย์รายงานลักษณะก้อนต่อมไทรอยด์จากอัลตราซาวนด์ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
และใช้เป็นแนวทางในการให้การวินิจฉัย ติดตามและวางแผนการรักษา - รังสีแพทย์จะรายงานผลอ่านก้อนในต่อมไทรอยด์ โดยคำนวณคะแนนจากลักษณะทางอัลตร้าซาวด์ 5 อย่าง ได้แก่
1) composition (ส่วนประกอบของก้อน)
2) echogenicity (ลักษณะของเสียงสะท้อนแสดง)
3) shape (รูปร่างก้อน)
4) margin (ขอบเขตก้อน)
5) echogenic foci (ลักษณะหินปูน)
เนื้อหาต่อไปนี้จะแสดงถึงลักษณะภาพอัลตร้าซาวด์ก้อนในต่อมไทรอยด์ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ประมาณ 80 เปอร์เซนต์
ก้อนแบบนี้จะต้องมีลักษณะร่วมกัน คือ มี รูปร่างขรุขระ (lobulated or irregular margins) และ
ลักษณะของเสียงสะท้อนเป็นสีดำกว่าเนื้อของไทรอยด์ (hypoechogenicity) จากภาพอัลตร้าซาวด์
ดังภาพ
ภาพแสดงก้อนในต่อมไทรอยด์รูปร่างขรุขระ และเนื้อก่อนมีสีดำกว่าสีของเนื้อตอ่มไทรอยด์ปกติ Cr. Dr. Nate Walsh
ลักษณะภาพอัลตร้าซาวด์เพิ่มเติมที่ทำให้สงสัยมะเร็งไทรอยด์
- ลักษณะรูปร่างมีความสูงมากกว่าความกว้าง (Taller than wide)
ภาพแสดงก้อนขรุขระที่มีส่วนสูงของก้อนมากกว่าความกว้างของก้อน Cr. Radiologyassistant
- ลักษณะขอบก้อนก้อนลุกลามออกนอกขอบเขตต่อมไทรอยด์ หรือ ผ่านไปยังอวัยวะข้างเคียง (extrathyroidal extension)
ภาพแสดงก้อนเนื้อรูปร่างขรุขระ ที่มีลักษณะลุกลามออกนอกขอบเขตของต่อมไทรอยด์ (ออกนอกแนวเส้นประสีขาว)
ไปทางด้านหน้า
- มีหินปูนขนาดเล็กกระจายอยู่เต็มก้อน (microcalcifications)
ภาพแสดง ก้อนเนื้อสีดำกว่าเนื้อต่อมไทรอยด์ปกติ และมีจุดหินปูนเล็กๆ จำนวนมาก อยู่ภายในก้อน
- ก้อนมีหินปูนที่ขอบก้อนและมีเนื้อเยื่อของก้อนดันหินปูนแตกจนบางส่วนของก้อนเนื้อยื่นออกนอกขอบหินปูนออกไป (interrupted rim calcification with soft tissue extension)
ภาพแสดงก้อนที่มีหินปูนเป็นขอบขาว ที่ลูกฟ้าชี้แสดงหินปูนถูกก้อนดัน แตกเป็นส่วนๆ ออกมาด้านหน้า
ลูกศรม่วงแสดงส่วนของเนื้องอกลุกลามออกนอกแนวหินปูน
- มีต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตผิดปกติ
จากภาพ ลูกศรม่วงแสดงตำแหน่งก้อนมะเร็งในต่อมไทรอยด์ แม้มีขนาดเล็กแต่กระจายมายังต่อมน้ำเหลือง
บริเวณใกล้เคียงแล้ว (ลูกศรฟ้า)
ในผลอ่านอัลตร้าซาวด์ก้อนในต่อมไทรอยด์ รังสีแพทย์จะอธิบายลักษณะก้อน วัดขนาด
บอกตำแหน่งที่พบ แล้วลงความเห็นว่าเป็นความเสี่ยงต่อมะเร็งมากหรือน้อย และแนะนำให้เจาะเก็บเซลล์ก้อนเพื่อพิสูจน์มะเร็ง (FNA) หรือ ตรวจติดตามด้วยออัลตร้าซาวด์